ทะกะอะกิ คะจิตะ (ญี่ปุ่น: ???? Kajita Takaaki ?) เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2502 ณ เมืองฮิงะชิมะสึยะมะ จังหวัดไซตะมะ เป็นนักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่น มีชื่อเสียงจากผลงานการทดลองเกี่ยวกับอนุภาคนิวตริโน KamiokaNDE และ Super Kamiokande ในศูนย์สังเกตการณ์คะมิโอะกะแห่งสถาบันวิจัยรังสีคอสมิก มหาวิทยาลัยโตเกียว คะจิตะเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2558 ร่วมกับอาร์เธอร์ แมคโดนัลด์ นักฟิสิกส์ชาวแคนาดา ในฐานะ "การค้นพบปรากฏการณ์การแกว่งของนิวตริโน ซึ่งชี้ให้เห็นว่านิวตริโนนั้นมีมวล"
คะจิตะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยไซตะมะ จังหวัดไซตะมะ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2523 จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโตเกียว จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกเมื่อ พ.ศ. 2529 คะจิตะเริ่มทำงานวิจัยที่สถาบันวิจัยรังสีคอสมิก (ICRR) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวในอีกสองปีต่อมา โดยมีฐานะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และเลื่อนเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นคะจิตะยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยวิจัยคอสมิกนิวตริโน แห่งสถาบันวิจัยรังสีคอสมิก ปัจจุบันคะจิตะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรังสีคอสมิกและสถาบันฟิสิกส์และคณิตศาสตร์จักรวาลคาฟลีในกรุงโตเกียว
ในปี พ.ศ. 2531 คะจิตะและคณะในการทดลอง KamiokaNDE ค้นพบว่านิวตริโนชนิดมิวออนนิวตริโน ซึ่งวิ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกนั้น ได้หายไปในระหว่างทาง และได้เรียกว่าเป็น "ปรากฏการณ์ผิดธรรมดาของนิวตริโนในชั้นบรรยากาศ" (อังกฤษ: atmospheric neutrino anomaly) ที่ต่อมามีคำอธิบายและสรุปว่าเป็น "ปรากฏการณ์การแกว่งของนิวตริโน" (อังกฤษ: neutrino oscillation) โดยนิวตริโนชนิดหนึ่งสามารถเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนิวตริโนชนิดอื่นได้ ทำให้ทราบว่านิวตริโนจำเป็นต้องมีมวล ซึ่งช่วยพัฒนาองค์ความรู้เรื่องแบบจำลองมาตรฐานในศาสตร์ฟิสิกส์อนุภาคได้อย่างมาก